ประวัติหน่วย

วิทยาลัยการตำรวจ กองบัญชาการศึกษา

ประวัติวิทยาลัยการตำรวจ

โรงเรียนสืบสวน กรมตำรวจ ตั้งอยู่ในบริเวณศูนย์การอบรมข้าราชการกระทรวงมหาดไทยวังสวนสุนันทนา เป็นโรงเรียนที่ตั้งขึ้น สมัย ฯพณฯ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ โดยที่พิจารณาเห็นว่าในต่างประเทศนั้น นอกจากจะมีวิทยาลัยตำรวจเป็นโรงเรียนที่ให้ความรู้ในด้านวิทยาการตำรวจแล้วยังมีโรงเรียนฝ่ายสืบสวนสำหรับทำหน้าที่อบรม พนัก งานสืบสวนโดยเฉพาะอีกด้วย จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง ซึ่งคณกรรมการดังกล่าวได้กำหนดระเบียบการและหลักสูตร การอบรม โดยได้เปิดเป็นรุ่นแรก ตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2495 ซึ่งเป็นรุ่นทดลอง ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาเห็นว่าโรงเรียนสืบสวนนี้มีประโยชน์ทั้งข้าราชการฝ่ายปกครองและตำรวจซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ในการ สืบสวน จึงได้มีคำสั่ง กระทรวงมหาดไทย ที่ 750/2495 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2495 กำหนดระเบียบ และหลักสูตรการสืบสวนขึ้น ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้กำหนดผู้ที่จะเข้าศึกษาอบรมในโรงเรียนสืบสวนไว้สองประเภท คือ ข้าราชการฝ่ายตำรวจและฝ่ายปกครอง ซึ่งมีหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนเท่านั้น

ในปลายปี พ.ศ. 2509 กรมตำรวจได้แต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงการฝึกอบรมในโรงเรียนสืบสวนขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยมี ผบช.ศ. (พล.ต.ท.สงวน จิตตาลาน) เป็นประธานกรรมการพิจารณาดำเนินการตามโครงการฝึกอบรมของโรงเรียนสืบสวนทั้งนี้เพราะการดำเนินงาน ตามโครงการของโรงเรียนสืบสวน ที่เป็นอยู่ขณะนี้ไม่ได้ทำหน้าที่หลักคือ การอบรมวิชาสืบสวนสอบสวน เพราะได้รับมอบหมายให้อบรม ผู้บรรจุโอนมาเป็นนายตำรวจสัญญาบัตร หรือ จ.ส.ต.ซึ่งเป็นงานของโรงเรียนนายร้อยตำรวจให้มาจัดทำอีกปีละสองรุ่นทำให้การอบรมวิชา สืบสวนสอบสวนอันเป็นงานหลักต้องขาดไป ซึ่งถ้าให้โรงเรียนสืบสวน อบรมวิชาสืบสวนอย่างเต็มที่แล้ว จะช่วยเพิ่มพูนความรู้ด้านสืบสวนแก่พนักงานสอบสวนที่ควรเข้ามาอบรมเป็นอย่างดี ประกอบกับความก้าวหน้าของงานทางด้านวิทยาการตำรวจ และภาระหน้าที่ของตำรวจเพิ่มมากขึ้น คณะกรรมการจึงได้เสนอให้โรงเรียนสืบสวนเป็นสถาบันเพื่อดำเนินการ

1. ฝึกอบรมวิชาสืบสวนสอบสวนแก่ข้าราชการชั้นสัญญาบัตร ข้าราชการอื่น และผู้ที่อธิบดีกรมตำรวจเห็นสมควร

2. สัมมนาการบริหารตำรวจระดับอำนวยการ เพื่อเพิ่มพูนความรู้แก่นายตำรวจชั้นผู้บังคับกองหรือสารวัตรขึ้นไป

3. ฝึกอบรมผู้ที่จะเลื่อนขั้นเป็นผู้บังคับกองหรือสารวัตร และตำแหน่งที่สูงขึ้นไป

จึงเห็นได้ว่าภารกิจโรงเรียนสืบสวนได้ทวีเพิ่มขึ้น และในโอกาสเดียวกันนี้คณะกรรมการได้พิจารณาปรับปรุงหลักสูตรการสืบสวน ขึ้นใหม่ แล้วเปลี่ยนชื่อหลักสูตรที่ได้รับการปรับปรุงใหม่นี้ว่า “ หลักสูตรการสืบสวนคดีอาญา ”

สำหรับผู้บังคับบัญชาสูงสุดของโรงเรียนแต่เดิมนั้นกำหนดให้ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนกลางเป็นผู้อำนวยการสืบสวน โดยตำแหน่ง ต่อมาปี พ.ศ. 2503 ได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการ กรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย โอนโรงเรียนสืบสวน ขึ้นตรงต่อกองบัญชาการศึกษา โรงเรียนสืบสวนได้วิวัฒนาการมาเป็นลำดับจนกระทั่งปี พ.ศ. 2528 ได้มีพระราชกฤษฎีกา แบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2528 เปลี่ยนชื่อจากโรงเรียนสืบสวนเป็น "สถาบันพัฒนาข้าราชการตำรวจ" เพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงาน ดังกล่าวในการพัฒนา ระบบการศึกษาและการฝึกอบรมข้าราชการตำรวจ เพื่อให้มีสมรรถภาพในการป้องกันปราบปราม การสืบสวนสอบสวน และการให้บริการแก่สังคมด้านความปลอดภัย และให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้บังคับบัญชาและฝ่ายอำนวยการ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากจะมีการเปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันพัฒนาข้าราชการตำรวจแล้ว กรมตำรวจได้มีระเบียบกรมตำรวจว่าด้วย การใช้ถ้อยคำย่อในราชการตำรวจ (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2529 ให้ใช้คำย่อ สถาบันพัฒนาข้าราชการตำรวจว่า “ สบพ. ”

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2552 ได้มีพระราชกฤษฎีกาปรับปรุงโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สถาบันพัฒนาข้าราชการตำรวจ จึงได้ปรับเปลี่ยนชื่อเป็น “วิทยาลัยการตำรวจ” ในปัจจุบัน

วิทยาลัยการตำรวจ เป็นหน่วยงานหลักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในด้านการฝึกอบรมข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรทั่วประเทศ ประมาณปีละ 1,200 – 1,500 คน โดยมีหลักสูตรที่อยู่ในความรับผิดชอบ จำนวน 4 หลักสูตร คือ

1. หลักสูตรการบริหารงานตำรวจชั้นสูง (บตส.)

2. หลักสูตรผู้กำกับการ (ผกก.)

3. หลักสูตรสารวัตร (สว.)

4. หลักสูตรฝ่ายอำนวยการตำรวจ (ฝอ.ตร.)

นอกจากนี้ ยังมีภารกิจในการฝึกอบรมหลักสูตรพิเศษต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหลักสูตรการฝึกอบรมที่ได้รับการสนับสนุนจากจากต่างประเทศ เช่น

- หลักสูตรตามโครงการให้ความช่วยเหลือด้านการต่อต้านการก่อการร้าย กระทรวงการต่างประเทศ ประเทศสหรัฐอเมริกา(Anti-Terrorism Asistant Program : ATA)

- หลักสูตรตามโครงการความร่วมมือทางวิชาการและการฝึกอบรมระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติและฝ่ายต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย (Transactional Crime Affairs Section : TCAS)

- หลักสูตรความร่วมมือระหว่างกองบัญชาการศึกษา และคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC)

- หลักสูตรการฝึกอบรมวิทยากรเพื่อเผยแพร่หลักสูตรต่อต้านการค้ามนุษย์สำหรับเจ้าหน้าที่พื้นที่ (ARTIP)